สาเหตุของปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ (1)

Posted: กรกฎาคม 4, 2014 in ไม่มีหมวดหมู่

สาเหตุจากวิธีการเข้าสู่เรือนจำของผู้ต้องขัง

                    ขาดการพัฒนาเรื่อง “โทษ”

หากกล่าวถึงกระบวนการบังคับโทษ ขั้นตอนการพิจารณาพิพากษาถือเป็นขั้นตอนแรกในการส่งผู้กระทำผิดเข้าสู่เรือนจำอันถือว่าเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ สืบเนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้มีการใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2500 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกือบ 60 ปีแล้ว และในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาประมวลกฎหมายอาญาก็ได้มีการแก้ไขทั้งในส่วนของหลักการและรายละเอียดจำนวน 21 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน 2557) แต่เฉพาะในเรื่องบทบัญญัติว่าด้วย “โทษ” อันเป็นบทบัญญัติพื้นฐานที่ผู้พิพากษาใช้ในการพิจารณาพิพากษาแก่ผู้กระทำความผิดในทุกคดีกลับไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลยตลอดระยะเวลาดังกล่าว โดย “โทษ” ตามประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับตามตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ในมาตรา 18 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ 5 สถาน ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน ซึ่งโทษที่ถูกใช้บังคับมากที่สุดคือ “จำคุก” และ “ปรับ” สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ คือ การที่ผู้พิพากษาไม่มีทางเลือกในการบังคับโทษมากนัก ซึ่งเกิดจากประเทศไทยยังไม่มีเคยมีการพัฒนาบทบัญญัติเรื่อง “โทษ” มาก่อน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศแล้วพบว่าประเทศไทยมีทางเลือกในการบังคับโทษน้อยกว่ามาก เช่น ประเทศอังกฤษ ไม่ได้แยกโทษและวิธีการเพื่อความปลอดภัยออกจากกัน แต่ได้กำหนดให้ผู้พิพากษาสามารถเลือกใช้มาตรการทางอาญาได้ตามความเหมาะสมกับความร้ายแรงของความผิดและสภาพจิตใจของผู้กระทำผิด เพื่อป้องกันสังคมและลดการเกิดอาชญากรรม โดยผู้พิพากษาสามารถสั่งบังคับใช้มาตรการทางอาญาได้ถึง 23 มาตรการ (Criminal Justice Act 1991)

                    ระบบการ “ปล่อยชั่วคราว” ไม่ถูกนำมาใช้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติหลักของ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ สอดคล้องกับหลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่กำหนดว่า ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี แต่อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันพนักงานสอบสวน (เจ้าหน้าที่ตำรวจ) ชอบที่จะควบคุมผู้ต้องหาว่ากระทำผิดไว้โดยอ้างเหตุในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ต้องการสืบสวนขยายผล ต้องการกันไว้เป็นพยาน ต้องการมิให้ไปทำลายพยานหลักฐาน ฯลฯ ซึ่งมักจะนำผู้ต้องหาเหล่านั้นไปฝากขังไว้ในเรือนจำ จากสถิติผู้ต้องขังในเรือนจำเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2557 ของกรมราชทัณฑ์ พบว่า มีจำนวนผู้ต้องขังทั้งสิ้น 292,227 คน โดยในจำนวนนี้เป็นต้องขังระหว่าง 66,417 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 23 ของผู้ต้องขังทั้งหมด

Presentation1

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี คือ เกรงว่าจะหลบหนี เกรงว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เกรงว่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล ทั้งนี้ หากวิเคราะห์สถิติดังกล่าวเทียบเคียงกับหลักกฎหมายแล้ว พบว่า ระบบการปล่อยชั่วคราวในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งผู้ต้องหาที่กลายเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำท้ายสุดอาจไม่ใช่ผู้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาได้ ซึ่งจะกลายเป็นภาระของรัฐในการจ่ายค่าทดแทนในกรณีที่ผู้ต้องหาดังกล่าวถูกควบคุมตัวเนื่องจากความบกพร่องของระบบกระบวนการยุติธรรมเอง

ใส่ความเห็น